มันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 2 มันฯพันธุ์ใหม่ เนื้อนุ่มไร้เสี้ยนกินอร่อย


ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 1 ให้ผลผลิตมากกว่าถึง 6.5 ตันต่อไร่ มีปริมาณแป้งในหัวสดสูงกว่า 30% ไปเมื่อปี 2557...ล่าสุด ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวทช. ดร.โอภาษ บุญเส็ง ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง รศ.ดร.กนกพร ไตรวิทยากร สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล และ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษา สวทช. ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงมันสำปะหลังพันธุ์ “พิรุณ 2”

ด้วยการนำมันสำปะหลังพันธุ์ดี 2 สายพันธุ์... พันธุ์ห้านาที มาผสมกับพันธุ์ห้วยบง 60

ได้มันสำปะหลังที่มีลักษณะทรงต้นตั้งตรง แตกกิ่งที่ระดับสูง มีก้านใบสีแดง ให้หัวดก ออกรอบโคนเป็นชั้น หัวสวยคล้ายดอกบัวตูม เปลือกหนา มีก้านหัวสั้น...เวลาเก็บเกี่ยวหัวสดจะต้องตัดที่ก้านหัวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลบนพื้นที่หัวและช่วยยืดอายุของการเก็บรักษาหัวมันไว้ได้นานก่อนนำไปแปรรูป


“พิรุณ 2” เป็นมันสำปะหลังสำหรับใช้รับประทาน เมื่อนำไปต้มหรือเชื่อมจะให้เนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์ห้านาที มีเนื้อแป้งร่วนซุย รับประทานแล้วไม่ติดเหงือกติดฟัน เนื้อแป้งละลายในปากได้ง่าย เวลารับประทานมันต้มหรือเชื่อม ไม่ต้องคายเส้นใยออกเหมือนพันธุ์ห้านาที หรือเรียกว่าเนื้อมันไร้เสี้ยน สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารไทย ได้แก่ ต้ม เชื่อม ทำขนมหวานแบบไทย และนำไปแปรรูปเป็นอาหารสากลแทนมันฝรั่ง อย่างเช่น ทำเฟรนช์ฟราย มันทอด และมันบด

และเหมาะสำหรับวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตในรูปของหัวสดเคลือบแวกซ์ หัวสดปอกเปลือกแช่แข็ง แปรรูปแบบแท่งดิบแช่แข็ง และแปรรูป แบบต้มสุกก็ได้


นอกจากนี้ ยังสามารถนำหัวสดไปผลิตเป็นแป้งฟลาว เพื่อใช้ทดแทนแป้งฟลาวที่ทำมาจากข้าวสาลีในการทำพวกเบเกอรี่ ซึ่งขณะนี้ได้นำตัวอย่างหัวสดและแป้งฟลาวของมันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 2 ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไปศึกษาและทดลองแปรรูปเป็นอาหารไทย และอาหารสากลอีกด้วย

ข้อดีอีกประการของมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่...สามารถปลูกได้ในสภาพไร่ ให้ผลผลิตสูงถึง 4-5 ตันต่อไร่ ต่างจากพันธุ์ห้านาทีซึ่งจะปลูกได้เฉพาะในสภาพที่มีการให้น้ำเท่านั้น


มันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 2 ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงของนัก ปรับปรุงพันธุ์ ก็คือ เป็นพันธุ์ทูอินวัน (TWO in ONE) สามารถรวมเอาลักษณะพันธุ์อุตสาหกรรมและพันธุ์รับประทานไว้ในพันธุ์เดียวกันได้


เกษตรกรสนใจสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง 08-1940-5565, กำแพงเพชร 08-1674-0426, นครราชสีมา 08-8470-6139, ชลบุรี 08-9834-9760, ฉะเชิงเทรา 08-6520-7547 และสุพรรณบุรี 08-1981-2613.

จาก thairath.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02181

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา