น่ายินดี.. เตาอบรมควันยางพารา ประหยัดพลังงาน แก้ปัญหายางแผ่นไม่ได้คุณภาพ ขายได้ราคาดีขึ้น


     นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับชาวสวนยางพาราและผู้ประกอบการ ที่กำลังประสบปัญหาการผลิตแผ่นยางพาราที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นยางที่แห้งไม่สม่ำเสมอ เมื่อผ่านห้องอบที่มีความร้อนกระจายตัว ทำให้แผ่นยางพารารมควันที่ได้มีคุณภาพต่ำ สีเหลืองไม่สม่ำเสมอ และมีรอยดำไหม้ ทั้งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง

รศ.ดร. ฐานิตย์ เมธิยานนท์รศ.ดร. ฐานิตย์ เมธิยานนท์     ต่อปัญหานี้ รศ.ดร. ฐานิตย์ เมธิยานนท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและการถ่ายเทความร้อน จึงร่วมมือกับทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พัทลุง ชุมพร สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช)  พัฒนาเทคโนโลยีเตาอบยางพาราให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องอบได้ดี  ภายใต้ "โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปน้ำยางพาราแบบลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม"                                      

รศ.ดร. ฐานิตย์ เล่าให้ฟังว่า จุดเด่นของเทคโนโลยีเตาอบรมควันยางพาราแบบประหยัดพลังงานมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ทั้งลดต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในขั้นตอนการอบรมและเพิ่มความสม่ำเสมอของยางแผ่นรมควันในห้องอบรมควัน โดยได้พัฒนาระบบให้เป็นแบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องอบกลับมาใช้ใหม่ได้หลังการอบแห้งผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง  ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง พร้อมกันนี้ระบบที่ออกแบบไว้ยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน โดยติดตั้งชุดดักสะเก็ดไฟที่อาจหลุดลอยเข้าสู่ห้องอบ อันเป็นที่มาของการเกิดไฟไหม้ห้องอบรมควันยางพารา นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งชุดวัดอุณหภูมิของลมร้อนที่เข้าห้องอบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมอุณหภูมิลมร้อนไม่ให้สูงเกินไป ทำให้มั่นใจได้ว่า อุณหภูมิในห้องอบจะมีความสม่ำเสมอและไม่สูงเกินไปจนเป็นผลเสียต่อคุณภาพของยางแผ่น

     ในปี 2553-2554  ทีมวิจัยเทคโนโลยีเตาอบรมควันยางพาราแบบประหยัดพลังงาน มีการจัดทำโครงการเพื่อขยายผลการนำเทคโนโลยีเตาอบรมควันยางพาราชุดนี้ไปทดลองใช้กับสหกรณ์ยางแผ่นรมควันในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช และ พัทลุง  ซึ่งเป็นเตาอบรมควันยางพาราที่ใช้เตาผลิตความร้อน 1 ลูกสำหรับใช้งานกับห้องอบรมควันแบบสหกรณ์กองทุนสวนยาง(สกย.)ปี 2538 จำนวน 1 ห้อง

     โดยผลที่ได้จากการทดสอบประสิทธิภาพ ปรากฏว่า 1. สามารถประหยัดจำนวนเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ถึงร้อยละ 40 หรือได้มากกว่า คิดเป็นมูลค่า 66,000 บาทต่อเตาต่อปี(คำนวณจากราคาไม้ฟืน 1 บาทต่อกิโลกรัม)  2. ปริมาณการผลิตยางแผ่นยังได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากเดิม 49 ตันยางแห้งต่อเดือนเป็น 70 ตันยางแห้งต่อเดือน  3.ใช้เวลาในการอบต่อครั้งลดลงได้ถึงร้อยละ 20  จากเดิมใช้เวลาอบ 4 วัน 3 คืน เหลือ 3 วัน 2 คืน และ 4. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้


     นอกจากนี้ทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยังได้ทำการขยายผลด้วยการนำเตาอบยางพาราแผ่นไปติดตั้งให้กับกลุ่มเกษตรกรสวนยาง กลุ่มสัจจะพัฒนายาง จังหวัดตราด จำนวน 2 เตา ซึ่งจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพเตาอบเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ยาง โดยได้ติดตั้งเตาอบรมควันและระบบท่อลมในโรงอบยางแผ่นให้กับกลุ่มสัจจะ พัฒนายาง บ้านท้ายวัง จ.ตราด จำนวน 1 เตาต่อ 2 ห้องรมควัน  ทำให้สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น มีรายได้เพิ่มขึ้น 4.2 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มจากกลุ่มสัจจะฯ 1.8 ล้านบาทจากการที่กลุ่มสัจจะฯลงทุนสร้างเตาขึ้นใหม่อีก 1 ชุดด้วยเงินทุนของกลุ่มโดยได้ใช้ประสบการณ์ร่วมกับนักวิจัยในการปรับปรุงเตาจากรูปทรงกลมเป็นทรงสี่เหลี่ยม เพื่อใส่ฟืนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  ซึ่งปัจจุบันเตาอบรมควันชุดนี้ได้มีการขยายผลการนำไปใช้ในกลุ่มสัจจะพัฒนายาง บ้านเขาหมาก จังหวัดตราด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จาก aec.thanjob.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02139

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา