แหล่งพันธุ์หอมแดงสะอาด ศรีสะเกษ



สาเหตุสำคัญของการระบาดของโรคหอมเลื้อย เนื่องจาก ผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษนิยมซื้อหัวพันธุ์หอมแดงมาจากต่างพื้นที่ โดยมีเชื้อโรคติดมากับหัวพันธุ์และแพร่ระบาดในแปลงปลูก

นางนวลจันทร์ ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลการเพาะปลูกหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2557/2558 พบว่า มีเกษตรกรปลูกหอมแดง จำนวน 7,943 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 28,580 ไร่ โดยแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอราษีไศล ยางชุม น้อย ขุขันธ์ วังหิน และกันทรารมย์ คาดว่าจะมีผลผลิต ประมาณ 92,976 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,394 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่า พื้นที่ปลูกหอมแดง ในจังหวัดศรีสะเกษมีการระบาดของโรคหอมเลื้อย โดยเชื้อโรคจะติดมากับหัวพันธุ์ ทำให้ต้นหอมที่เป็นโรคมีอาการแคระแกร็น ไม่ลงหัว ใบบิดโค้งงอ หัวลีบยาว มักพบแผลเป็นรูปรี บนแผลจะพบสปอร์ตุ่มสีดำเล็ก ๆ ที่บริเวณโคนกาบใบคอหรือส่วนหัว เกิดร่วมกับอาการเลื้อยไม่ลงหัว ทำให้ผลผลิตเสียหายสูงถึง 50% ขณะเดียวกันยังทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ เน่าเสียง่าย และเก็บได้ไม่นาน

สาเหตุสำคัญของการระบาดของโรคหอมเลื้อย เนื่องจาก ผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษนิยมซื้อหัวพันธุ์หอมแดงมาจากต่างพื้นที่ โดยมีเชื้อโรคติดมากับหัวพันธุ์และแพร่ระบาดในแปลงปลูก จากปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาดเพื่อป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม ขึ้นมา และล่าสุดได้เทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาดที่เหมาะสม พร้อมสร้างแปลงต้นแบบผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาดเพื่อป้อนให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการใช้พันธุ์หอมคุณภาพ อีกด้วย

สำหรับเทคนิคการผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาด เบื้องต้นเกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ปลูกโดยเก็บเศษซากหอมที่ตกค้างอยู่ออกจากแปลงนำไปเผาทำลายก่อนไถตากดิน ทั้งยังต้องเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติดินจากนั้นใส่ปูนโดโลไมท์ตามค่าวิเคราะห์ดิน และเลือกใช้พันธุ์หอมแดงที่มาจากแหล่งไม่พบการระบาดของโรคหอมเลื้อย ก่อนปลูกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหว่านให้ทั่วแปลงและไถกลบ หลังปลูกรดน้ำอย่างสม่ำเสมอโดยรดน้ำในช่วงเช้า

ต้องมีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยการสำรวจแปลงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นตามคำแนะนำและถูกต้องตามหลักวิชาการหลังปลูก ประมาณ 40 วัน หอมแดงจะเริ่มออกดอก เกษตรกรควรเด็ดดอกหอมเพื่อให้หอมลงหัวซึ่งจะทำให้ได้หัวพันธุ์ขนาดใหญ่ และควรเก็บเกี่ยวหอมแดงที่อายุ 80 วันขึ้นไป นำไปแขวนผึ่งไว้ ประมาณ 15 วัน แล้วค่อยมัดกำ โดยต้องคำนึงถึงสุขอนามัยหลังการเก็บเกี่ยวด้วย จะทำให้ได้พันธุ์หอมแดงที่มีคุณภาพและไม่มีโรคหอมเลื้อย เมื่อนำหัวพันธุ์สะอาดที่ได้ไปปลูกเป็นหอมปี (ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม) จะสามารถป้องกันกำจัดโรคหอมเลื้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่พบการระบาดของโรค ขณะดียวกันยังช่วยลดการใช้สารเคมีและได้ผลผลิตสูงถึง 3-3.5 ตัน/ไร่ ที่สำคัญยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

สำหรับในปี 2558 นี้ ได้มีการสร้างแปลงต้นแบบการผลิตหอมแดงพันธุ์สะอาดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเป็นการนำร่อง 20 คน พื้นที่ ประมาณ 100 ไร่ คาดว่า จะได้หัวพันธุ์หอมแดงสะอาดรวมกว่า 100 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8-10 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบฯ ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์หอมแดงสะอาด เพื่อผลิตหอมแดงที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษกว่า 500 คน นำไปใช้ปลูกต่อไป

ซึ่งคาดว่า จะเกิดแหล่งผลิตพันธุ์หอมแดงคุณภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต และมีพันธุ์หอมแดงสะอาดกระจายสู่แหล่งปลูกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย.ฤ


จาก dailynews.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02075

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา