พริกไทย.. พืชเศรษฐกิจใหม่สร้างรายได้นับล้าน ที่สุโขทัย


หากพูดถึงแหล่งปลูกพริกไทยของบ้านเราแล้วล่ะก็เป็นต้องนึกถึงภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันทุบรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพริกไทยแหล่งใหญ่และเก่าแก่ของบ้านเรามายาวนาน พื้นที่อื่นแทบจะไม่มีการปลูกกันเลย แต่วันนี้เราจะพาไปดูพริกไทยที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้ไม่นานและมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่นี่ พืชเศรษฐกิจสำคัญของที่นี่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยาสูบ มะนาว นาข้าว สวนพริกไทยของที่นี่เกิดจากความคิดต่างของ ดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์ สิริถาวรวิวัฒน์ ที่มองหาพืชที่จะสร้างรายได้ที่ดีในอนาคต โดยทั้งสองคนยังทำงานรับราชการด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นพืชที่เลือกปลูกนอกจากจะสร้างรายได้ที่ดีแล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นพืชที่ดูแลไม่มาก ต้องเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน ไม่ต้องมาปลูกบ่อยๆ พริกไทยดูจะเป็นพืชนอกสายตาและไม่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของทั้งคู่ซึ่งเป็นชาวอุตรดิตถ์ ที่คุ้นเคยกับพืชพวกทุเรียน ลางสาด แต่หลังจากที่ศึกษาข้อมูลโดยเฉพาะด้านราคาแล้ว ดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์มองว่า พริกไทยเป็นพืชที่น่าสนใจเพราะราคาพริกไทยไม่เคยตกต่ำลงมาเลย พริกไทยราคาดีมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยเฉพาะในช่วงแล้งราคาพริกไทยสูงมาก ราคาสูงถึง 450-600 บาท ทั้งสองท่านศึกษาข้อมูลการปลูกทางอินเตอร์เน็ตและไปศึกษาดูงานการปลูกพริกไทยในแปลงปลูกจริงที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเพียงสวนพริกไทยสวนเดียวในพื้นที่เขตนี้ซึ่งปลูกมานานหลายปีแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมกับสั่งซื้อกิ่งพันธุ์จากที่นี่ด้วย โดยดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์ปลูกไปทั้งหมด 480 หลัก หรือประมาณ 200-250 หลัก/ไร่ ที่นี่ใช้ระยะปลูก 2.5x2.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะปลูกที่ห่างกว่าการปลูกพริกไทยในเขตจันทบุรี ซึ่งนิยมใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร คุณนรัญภรณ์ บอกว่า พริกไทยที่ปลูกเป็นพันธุ์ซีลอนซึ่งเป็นพริกไทยที่นิยมบริโภคเป็นพริกไทยสดหรือพริกไทยอ่อนที่มีทรงพุ่มใหญ่ ต้นใหญ่ ใบใหญ่กว่าพริกไทยทางเขตจันทุบรีซึ่งนิยมปลูกพริกไทยแห้งกัน อีกทั้งระยะปลูกที่ห่างขึ้นจะทำให้สะดวกในการทำงานมากขึ้นด้วย


หลังจากปลูกปีแรกพริกไทยให้ผลผลิตที่ดี ก็เริ่มมีคนสนใจปลูกพริกไทยกัน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟสบุ๊ค (พริกไทยซีลอน ไร่ดาบบรรพต) และแฟนเพจ ก็มีคนสนใจกันมาก และมีการสั่งซื้อกิ่งพันธุ์กันเข้ามาเป็นจำนวนมาก ปีแรกขายกิ่งพันธุ์ไปกว่า 3,000 กิ่ง ราคากิ่งพันธุ์ 15 บาทถ้าเป็นกิ่งตอนตัดตุ้ม แต่ถ้าเป็นกิ่งชำราคา 20 บาท โดยการผลิตกิ่งพันธุ์จะเน้นทำในช่วงฝน ซึ่งช่วงนี้จะถือโอกาสพักต้นด้วย บำรุงต้นให้เจริญเติบโตเต็มที่เพื่อให้ต้นแตกกิ่งก้านเพื่อผลิตกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์และคุณภาพดี
คุณนรัญภรณ์ เล่าถึง การปลูกพริกไทยว่า หลายคนมองข้ามและให้ความสนใจในการปลูกพริกไทยกันน้อยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรก โดยเฉพาะต้นทุนค่าเสาค้างที่ลงทุนค่อนข้างหนัก ซึ่งจะใช้เสาปูนขนาดหน้า 4 สูง 3 เมตร ค่าเสาต้นละ 200 บาท ลงทุน 400 หลัก ก็เกือบ 2 แสนบาท ตั้งแต่การเตรียมแปลง ค่าเสา ค่าต้นพันธุ์ ค่าระบบน้ำ ค่าแรงงานและอื่นๆ ทั้งหมด การปลูกจะปลูกค้างละ 3 ต้น แต่ถ้าปลูก 4 ต้นพริกไทยจะเดินเต็มค้างเร็วกว่า

ในส่วนของการดูแลพริกไทยนั้นคุณนรัญภรณ์บอกว่า ไม่ว่าจะปลูกพืชอะไรก็ตามชาวสวนควรจะมีการตรวจสอบสภาพดินก่อนปลูก เพื่อที่จะให้ปุ๋ยได้ตรงกับสภาพดินและลดต้นทุนการให้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็น คุณนรัญภรณ์เองในครั้งแรกก็ไม่ได้มีการตรวจสภาพดินเช่นกัน จึงเจอปัญหาพอสมควรเพราะไม่ได้ปรับสภาพดินก่อนปลูกให้ตรงกับความต้องการของพริกไทย แต่ก็มีการตรวจในช่วงหลังและค่อยๆปรับมาเรื่อยๆ พริกไทยชอบดินที่มีความเป็นกรดด่างประมาณ 5.5-6.5 ระหว่างแถวพริกไทยปลูกแฝกเพื่อดูดซับน้ำและปรับสภาพดินไปด้วย มีการให้ปุ๋ยคอกทุก 3 เดือน ครั้งละประมาณ 1 ถุงปุ๋ยต่อหลัก การใส่ปุ๋ยคอกจะเกลี่ยให้เป็นบริเวณกว้างในรัศมีของทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ ไม่ให้ปุ๋ยคอกกระจุกตัวอยู่บริเวณโคนต้นซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมีจะผสมปุ๋ยใช้เองจากแม่ปุ๋ย 3 ชนิดคือ 46-0-0,18-46-0,0-0-60 ในช่วงต้นเล็กก็จะบำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 พอออกช่อเปลี่ยนมาให้สูตรตัวกลาง ตัวท้ายสูง 8-24-24 หลังออกช่อแล้วติดเม็ดขนาดเล็กใช้ 30-7-25 เพื่อบำรุงเม็ดให้ขยายขนาด โดยปุ๋ยเคมีจะให้เดือนละครั้ง ส่วนของโรค-แมลงก็มีรบกวนบ้าง ที่เจอบ่อยก็จะเป็นเพลี้ยแป้ง การป้องกันกำจัดจะเลือกใช้วิธีธรรมชาติก่อนโดยใช้น้ำส้มสายชู+น้ำยาล้างจาน+ยาสูบ หมักไว้ 1 คืน ก็ใช้ฉีดพ่นได้ แต่ถ้าระบาดหนักก็ต้องพ่นสารเคมีบ้างเป็นครั้งคราวเหมือนกัน


พริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 10-14 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลผลิตที่อายุ 14 เดือน สำหรับพริกไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยอย่างดีของสวนที่นี่ อายุ 10 เดือนก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว อายุ 14 เดือนเก็บผลผลิตไปได้ 200 กก. แล้ว พริกไทยจะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่จะให้ผลผลิตรุ่นใหญ่ปีละ 2 รุ่น รุ่นแรกเริ่มเก็บประมาณ ม.ค.-ก.พ. พริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้จะให้ผลผลิตน้อยประมาณ 1 กก./หลัก(ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน/รุ่น) เพราะช่วงนี้ค่อนข้างแล้ง รุ่นที่ 2 เก็บประมาณ มิ.ย. –ก.ค. โดยพริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้ จะให้ผลผลิตสูงกว่าพริกไทยที่ออกช่วงแล้ง คือ ประมาณ 3 กก./หลัก (ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน/รุ่น) โดยพริกไทยที่ออกช่อ 1 รุ่นจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานประมาณ 4 เดือน คุณนรัญภรณ์บอกว่า จากข้อมูลการให้ผลผลิตของสวนพริกไทยโดยทั่วไป พริกไทยอายุ 2-3 ปี จะให้ผลผลิต 10 กก./หลัก/ปี คิดรายได้โดยประมาณไว้ที่หลักละ 1,000 บาท/ปี หรือประมาณ 200,000-250,000 บาท/ไร่/ปี นับว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

ผลผลิตพริกไทยของสวนจะส่งเข้ามายังตลาดไทเป็นหลัก โดยพริกไทยรุ่นแรกที่เก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา ราคา 90 บาท/กก. พอเข้าช่วงแล้งประมาณเดือน เม.ย. หลายพื้นที่จะขาดน้ำและถ้าพริกไทยขาดนี้ก็จะทำให้พริกไทยไม่ออกช่อ จึงทำให้พริกไทยที่เก็บเกี่ยวในช่วงฝนประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.มีราคาสูง หลายปีที่ผ่านมามานี้ราคา พริกไทยช่วงนี้สูงถึง 300-400 บาท/กก. เลยทีเดียว ซึ่งทางสวนค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้สวน จึงมีน้ำรดต้นพริกไทยได้ตลอดทั้งปีและทำให้พริกออกช่อได้ในช่วงแล้งและมีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฝน

วันนี้พริกไทยที่สวนเริ่มเก็บผลผลิต สร้างเม็ดเงินเข้าสวน คุณนรัญภรณ์บอกว่า หลังจากเห็นผลผลิตและรายได้แล้วเธอค่อนข้างมั่นใจว่าเธอเดินมาถูกทางแล้ว และเชื่อมั่นว่าตลาดพริกไทยจะมีความยั่งยืนไปได้อีกยาวนาน เนื่องจากพริกไทยสดยังเป็นที่นิยมใช้ในการประกอบอาหารต่างๆโดยเฉพาะอาหารที่ต้องการความเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นเมนูสุดโปรดของคนที่ชอบอาหารรสชาติจัดจ้านตามแบบฉบับของคนไทย ตลาดพริกไทยน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกพริกไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากพริกไทยมีการปลูกอยู่เฉพาะในกลุ่มเดิมๆที่คุ้นเคยและปลูกพืชชนิดนี้มานาน พื้นที่ใหม่ๆหรือคนปลูกหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับพริกไทยให้ความสนใจและปลูกพริกไทยเพิ่มขึ้นกันน้อยมาก อาจเป็นเพราะพริกไทยเป็นพืชที่คนทั่วไปมองข้ามความสำคัญกันนั่นเอง เมื่อพื้นที่ปลูกไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดมีมาก จึงทำให้พริกไทยเป็นพืชที่ราคาไม่เคยตกต่ำเลยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

จาก vigotech.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02159

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา