น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว วันนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกแล้ว



พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาและศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ  นายกิจจา ผลภาษี นายปกรณ์ สัตยวณิช นางสาวศรีนิตย์ บุญทอง ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร.

พร้อมด้วย นางสาวอุศนีย์ ธูปทอง  ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการฯ ภาคใต้  นายชูชาติ ฉุยกรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ นายเทอดศักดิ์ บุญยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำมูลนิธิชัยพัฒนา นายทวี เต็มญารศิลป์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้เดินทางไปติดตามและเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำบางนรา 30 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริ

ในการนี้ คณะองคมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ดำเนินการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวตั้งแต่ปี 2523 ด้วยราษฎรประสบปัญหาน้ำ 3 ประเภท คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว ที่ไหลมาบรรจบกันจึงทำให้เกิดน้ำกร่อย ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาและศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา เพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้งวิธีการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย วิธีการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำบางนราทั้งตอนบนและตอนล่าง พร้อมกับจัดระบบชลประทานและวางระบบการระบายน้ำ

และได้พระราชทานพระราชดำริในการแยกน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยวออกจากกันโดยกักน้ำจืดไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร สร้างระบบป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ทำกิน และระบายน้ำเปรี้ยวซึ่งขังอยู่ในที่ดินทำกินของราษฎรทำให้เกิดกรดกำมะถันออกจากพื้น

รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพดินให้สามารถทำการเกษตรได้ จากพื้นที่โครงการรวมประมาณ 315,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ       ที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 160,288 ไร่ และปัจจุบันได้มีการพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานไปได้ 75,644 ไร่ คิด   เป็นร้อยละ 47 สำหรับพื้นที่ที่พัฒนาแล้วได้มี

การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและน้ำท่วม ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีน้ำจืดเพียงพอสำหรับพื้นที่     เพาะปลูกได้จำนวน 105,000 ไร่ และได้ช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกด้วย

ในการนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้ร่วมเปิดคลองส่งน้ำและใส่ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ลงไปในน้ำที่ส่งเข้าแปลงปลูกตามระบบการส่งน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำที่ไหลลงสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่มีทั้งพืชไร่ และไม้ยืนต้นจะได้รับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการบำรุงต้นพืชอย่างเต็มที่และทั่วถึงทุกแปลง ไม่ต้องเสียเงินในการจัดหาปุ๋ยมาใช้เพื่อบำรุงต้นพืช

ดังแปลงเกษตรแบบผสมผสานของ นายสุวิทย์ เพชรกล่ำ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งในเรื่องของน้ำเพื่อการเกษตรและความรู้ทางด้านวิชาการในการประกอบอาชีพจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้นมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคและมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

การนี้องคมนตรีและคณะ ยังได้มอบปัจจัยการผลิตและเมล็ดพันธุ์พืชที่ผลิตโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้กับตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองต่อไป

ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรกรได้รับนั้น เมื่อปลูกแล้วจะสามารถเก็บผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ทันที อันต่างจากการหาซื้อจากตลาดทั่วไปที่เกษตรกรจะสามารถนำมาเพาะปลูกได้เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้นหากต้องการปลูกใหม่อีกก็ต้องไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ อันทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น.


จาก dailynews.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02081

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา