การดักจับหอยเชอรี่ในนาข้าว

หอยเชอรี่ ถือเป็นศัตรูตัวสำคัญที่ทำลายต้นข้าวในนาข้าว ทำให้เกษตรกรหลายรายได้ผลผลิตไม่คุ้มกับที่ลงทุนไว้ ทำให้หลายรายหันมาใช้สารเคมีกำจัด ซึ่งผิดวิธีในการทำนาแบบอินทรีย์และไปไม่รอด จึงต้องกลับไปทำนาแบบใช้สารเคมีกันอีก แต่ปัจจุบัน มีหลากหลายกรรมวิธีในการขจัดกับปัญหาเหล่านี้

หนึ่งวิธีที่กำลังดังฮิตมากในขณะนี้คือ การดักจับหอยเชอรี่ในนาข้าวโดยคุณอัมพร ทรัพย์สกุล หรือพี่ตี๋ ผู้สั่งสมประสบการณ์ในการทำนามายาวนานกว่า 40 ปี

สำหรับการจับหอยเชอรี่ในนาข้าวของคุณอัมพรนี้ มีวิธีทำไม่ยากแต่ต้องมีเทคนิคในการตัดขวดพลาสติก เนื่องจากมีวัสดุอุปกรณ์สำคัญที่เป็นตัวดักจับนั่นคือ ขวดน้ำพลาสติก นั่นเอง เป็นวิธีไร้สารปลอดภัยด้วย และใช้เวลาจัดการไม่นาน ต้นกำเนิดวิธีการดักจับหอยเชอรี่นี้ คุณอัมพร ทรัพย์สกุล หรือพี่ตี๋ เล่าว่า ได้เลือกที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลเป็นอย่างมาก และยังเป็นการช่วยโลกลดมลภาวะได้อีกด้วย เนื่องจากต้องนำขวดพลาสติกเหลือทิ้ง มาประดิษฐ์เป็นที่ดักหอยเชอรี่ ถือเป็นการรีไซเคิลขยะอีกวิธีหนึ่ง แถมยังสามารถดักจับหอยเชอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การดักจับหอยเชอรี่ด้วยขวดพลาสติก

ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นนวัตกรรมชิ้นนี้ พี่ตี๋ต้องสังเกตและเรียนรู้วงจรชีวิตของหอยเชอรี่อย่างชำนาญจนรู้ว่า หอยเชอรี่ชอบขึ้นมาวางไข่บนขอนไม้เหนือน้ำประมาณ 1 ฟุต จากการสังเกต ก็ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมแบบภูมิปัญญาชาวบ้านชิ้นนี้ขึ้นมา พี่ตี๋ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านของแท้

**จากการสังเกตุ (ไม่ได้สอบถามพี่ตี๋โดยตรงถึงวิธีการทำ) ผู้เขียนคิดว่าปากขวด (ด้านล่าง) น่าจะเป็นการใช้การตัดขวดให้เป็นริ้วๆ ให้มีทางเข้าได้แต่ออกไม่ได้ แล้วนำมาติดกับทางเข้าตรงปากขวดด้านล่างเพื่อให้หอยเดินเข้าได้ง่าย แต่เวลาออกจะไม่สามารถทำได้ คล้ายๆ การทำปากลอบ หรือที่ดักสัตว์อื่นๆ**


การดักจับหอยเชอรี่ด้วยขวดพลาสติก

สำหรับลักษณะการทำงานของที่ดักจับหอยเชอรี่นี้ จะละม้ายคล้ายคลึงกับที่ดักจับสัตว์ทั่วไป เมื่อหอยเชอรี่ไต่ขึ้นมาวางไข่ในขวด ก็จะไม่สามารถไต่กลับลงไปในน้ำได้ ทั้งไข่หอยและแม่หอย จะถูกขังเอาไว้ในขวดแห้งตายไปเอง หรือจะเก็บหอยนำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำรดต้นข้าวในนาแทนการใช้ปุ๋ย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำนาลงไปได้มากกว่าครึ่ง


ซึ่งจากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันเมื่อใช้น้ำหมักชีวภาพควบคู่ไปด้วย การใช้ปุ๋ยก็ลดลงเหลือเพียง 10 กิโลกรัมเท่านั้น สนใจ ที่ดักจับหอยเชอรี่ ของพี่ตี๋ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณอัมพร ทรัพย์สกุล (พี่ตี๋) อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.08-1251-0517

การดักจับหอยเชอรี่ในนาข้าวด้วยใบมันสำปะหลัง

สำหรับการดักจับหอยเชอรี่ด้วยกรรมวิธีการดักจับนี้ ใช้ใบมันสำปะหลังแทนสารเคมี คือในช่วงเวลาเย็น ให้นำใบมันสำปะหลังชนิดขม เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60 ซึ่งจะเป็นพันธุ์ที่มีสารไซยาไนด์สะสมอยู่ในใบมากกว่าชนิดอื่น นำใบมันเหล่านี้ไปวางกองไว้บริเวณริมคันนา ให้ทั่วทั้งแปลงนาโดยให้มีระยะห่างประมาณ 2-3 เมตร ต่อกอง เพื่อรอให้หอยเชอรีเข้ามากัดกิน ซึ่งหอยจะออกมากินใบมันสำปะหลังในช่วงเวลากลางคืน


แต่วิธีนี้หอยเชอรี่จะไม่ตายทันที แต่จะไปไหนไม่ได้เนื่องจากตัวหอยได้รับสารพิษจากใบมันสำปะหลังทำให้หอยเชอรีเมา ต้องมาเก็บหอยเชอรีที่มากินใบมันสำปะหลังไปทำลาย ทำปุ๋ย หรือทำประโยชน์อื่นๆ วิธีนี้•ควรทำทั้งก่อนปลูกข้าวและหลังจากการปลูกข้าวแล้วจะทำให้หอยเชอรี่หมดไปจากแปลงนา

การดักจับหอยเชอรี่ในนาข้าวด้วยมะละกอ

ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ณ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว ได้จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาเกษตรโดยให้นักเรียน ได้เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยชีวภาพที่ทำจากหอยเชอรี่ โดยใช้ระยะเวลาในการหมักปุ๋ยประมาณ 10-20 วัน ก็จะได้ปุ๋ยคุณภาพดีที่สามารถนำมาใช้งานได้ การทำปุ๋ยชีวภาพจากหอยเชอรี่นี้ จำเป็นต้องใช้หอยเชอรี่จำนวนมาก ดังนั้น คุณครูจึงได้สอนวิธึการหาหอยเชอรี่แบบง่ายๆ ให้กับเด็กนักเรียน ด้วยการให้เด็กๆ เอาลูกมะละกอและก้านมะละกอ มาทำกับดักจับหอยเชอรี่


เพราะด้วยนิสัยของหอยเชอรี่นั้นชอบกลิ่นยางของมะละกอมาก เมื่อนำใบและลูกมะละกอมาวางไว้ในแปลงนา ใช้เวลาเพียงแค่ 20-30 นาทีเท่านั้น หอยเชอรี่ก็จะมาเกาะที่ลูกและก้านมะละกอเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเก็บหอยเชอรี่เหล่านั้นมาทำประโยชน์ได้ไม่ยาก


อ้างอิง
- ที่ดักจับหอยเชอรี่ด้วยขวดพลาสติก ที่ www.pandintong-clip.com
- ดักจับหอยเชอรี่ด้วยใบมันสำปะหลัง ของลุงพิชัย กลุ่มเกษตรกร ต.บางสน www.rakbankerd.com
- ดักจับหอยเชอรี่ด้วยมะละกอ รายการสะเก็ดข่าว ช่อง 7
- kasetorganic.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02137

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา