เครื่องจักรกลการเกษตร แก้ปัญหาเผาก่อนตัดอ้อย



โดยพื้นที่ 1 ไร่ มีใบและเศษซากอ้อยประมาณ 0.63–1.51 ตัน ในแต่ละปีประเทศไทยมีการเผาใบและเศษซากอ้อยอยู่ระหว่าง 2.52–6.16 ล้านตัน

ปัญหาการทำไร่อ้อยนอกจากความแห้งแล้งแล้ว ดินก็มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากเกษตรกรนิยมเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนตัด ที่ยังมาซึ่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการทำลายอินทรียวัตถุในดิน และมลพิษโดยรวม

นายอรรถสิทธิ์ บุญธรรม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเผาไร่อ้อยมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ 1. การเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากปัญหาการขาด แคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อย รวมทั้งเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตัดอ้อย 2. การเผาใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว ไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะมีใบอ้อยคลุมดินที่เป็นเชื้อเพลิงที่อาจจะไหม้อ้อยตอ ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยว ก่อนอ้อยจะงอก ชาวไร่จึงเผาใบอ้อยเพื่อป้องกันไฟไหม้ 3. การเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน เมื่อตัดอ้อยปีสุดท้ายต้องรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรจะเผาใบและเศษซากอ้อย เพื่อสะดวกต่อการเตรียมดิน

โดยพื้นที่ 1 ไร่ มีใบและเศษซากอ้อยประมาณ 0.63–1.51 ตัน ในแต่ละปีประเทศไทยมีการเผาใบและเศษซากอ้อยอยู่ระหว่าง 2.52–6.16 ล้านตัน ในใบและเศษซากอ้อยมีไนโตรเจนอยู่ระหว่าง 0.35–0.66% ดังนั้นประเทศไทยจะมีการสูญเสียไนโตรเจนในดิน 8,820–40,656 ตันไนโตรเจนต่อปี

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณ บุรี จึงได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลการเกษตรแก้ปัญหาเป็น เครื่องตัดอ้อยสดชนิดตัดเป็นลำ แก้ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว เครื่องนี้มีส่วนประกอบหลักคือรถแทรกเตอร์ขนาด70 แรงม้า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถตัดอ้อย และอีกชุดเป็นเครื่องตัดอ้อยพร้อมถาดรับลำอ้อยที่ถ่ายทอดกำลังด้วยโซ่และสายพานทดแทนการใช้ระบบไฮโดรลิก ที่สำคัญคือระบบการแยกใบอ้อยจากลำ โดยใช้สายสลิงมายึดเกาะกับลูกกลิ้งเพื่อขัดใบออกจากลำ ก่อนที่ลำอ้อยจะพุ่งขึ้นไปที่มีดตัดยอดและลำเลียงขึ้นสู่ถาดรับ ซึ่งการแยกใบอ้อยออกจากลำนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่กรมวิชาการเกษตรคิดค้นได้เป็นรายแรก

เมื่อตัดอ้อยเสร็จเกษตรกรก็จะเผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว จึงได้คิดค้น เครื่องสับใบระหว่างแถวอ้อยตอ ใช้สำหรับสับใบอ้อยลงดิน ป้องกันไม่ให้ใบอ้อยที่คลุมดินไหม้อ้อยตอระหว่างแถวอ้อย และเมื่อตัดอ้อยปีสุดท้ายต้องรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเผาใบเพื่อสะดวกต่อการไถพรวน ดังนั้น จึงสร้าง เครื่องสับใบและกลบเศษซากอ้อย เพื่อทดแทนการเผาได้โดยหนึ่งชุดจะมีผาล 2 อัน ผาลหนึ่งทำหน้าที่สับใบ อีกผาลพลิกดินกลบ

ทั้งนี้ เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการเผาในไร่อ้อยทั้ง 3 เครื่องนี้ เป็นผลงานวิจัยที่คิดค้นขึ้นมาโดยคำนึงถึงเครื่องจักรกลที่เหมาะสมกับขนาดแรงม้าของรถแทรกเตอร์ในประเทศไทย รวมถึงประเทศกลุ่มเออีซี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จดสิทธิบัตรเครื่องจักรกลดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศจากการลดเผาใบและเศษซากพืชได้อย่างดี และการไถกลบยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เพิ่มผลผลิตให้กับพืชผลของเกษตรกร ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละมหาศาล.


จาก dailynews.co.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02080

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา