มาเลย์ผลิตแผงโซลาร์เบอร์ 3 โลก ส้มหล่นหรือเขาเก่งจริง?


จากศึกการค้าโซลาร์เซลล์ระหว่างสหรัฐอเมริกา-ยุโรป ซัดกับจีน

    ประเทศมาเลเซีย ได้กลายเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกไปแล้ว หลังจากบริษัทต่างชาติแห่ไปลงทุนตั้งโรงงาน เพื่อส่งไปขายตลาดอเมริกา-ยุโรป หลังเกิดศึกกีดกันการค้า แผงโซลาร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

    หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลี แห่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซีย เพื่อผลิตสินค้าส่งไปขายอเมริกาและยุโรป หลังจากที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันแผงโซลาร์เซลล์จากจีนด้วยกำแพงภาษี ส่วนยุโรปใช้วิธีจำกัดโควตานำเข้าจากจีน

    รายงานข่าวระบุว่า บริษัทที่เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซียแล้วมีอาทิ บริษัท ซันเอดิสันฯ (SunEdison) บริษัท ฮันฮวา คิว เซลล์สฯ (Hanwha Q Cells) บริษัท ชาร์ปฯ  (Sharp) บริษัท ซันพาวเวอร์ฯ (SunPower) บริษัท เฟิสท์โซลาร์ และโซเล็กเซลฯ (Solexel) ซึ่งเป็นบริษัทเกิดใหม่จากซิลิคัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในขั้นสร้างโรงงานด้วยงบลงทุน 810 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 25,920 ล้านบาท) โดยสิ่งที่ดึงดูดให้บริษัทยักษ์แผงโซลาร์เซลล์โลก เข้าไปลงทุนในมาเลเซีย คือวิศวกรท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี ค่าแรงถูกและการสนับสนุนทางภาษีจากรัฐบาล

    นิวยอร์กไทม์สระบุว่า การลงทุนจากต่างชาติทำให้มาเลเซีย กลายเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศจีนและยุโรปโดยที่ยังมีปริมาณการผลิตที่ห่างจากประเทศจีนมาก แต่กำลังไล่กวดสหภาพยุโรปมาติดๆ และคาดว่าจะเลื่อนอันดับขึ้นมาอีกเนื่องจากสหรัฐอเมริกา ยังมีแนวโน้มออกมาตรการกีดกันแผงโซลาร์เซลล์จากจีนอย่างต่อเนื่อง

    สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันการค้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีนหลังจากที่ผู้ผลิตจีน ส่งสินค้าไปทุ่มตลาดสหรัฐอเมริกาจนผู้ผลิตอเมริกัน ไม่สามารถแข่งขันได้โดยฝ่ายอเมริกากล่าวหาว่าจีนอุดหนุนผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ท้องถิ่นด้วยการให้แบงก์รัฐปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ผลิตอย่างไม่อั้น และยังให้ที่ดินตั้งโรงงานโดยไม่คิดค่าเช่าทำให้จีนสามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

    Mr.Tom Werner ประธานบริหารบริษัท ซันพาวเวอร์ฯ จากแคลิฟอร์เนียที่มีกำลังผลิตแผงโซลาร์เซลล์ครึ่งหนึ่งของบริษัทอยู่ในมาเลเซียให้สัมภาษณ์ นิวยอร์กไทม์ส ว่า “ชอบประเทศมาเลเซียเพราะว่ามีวิศวกรชั้นดีในอัตราจ้างที่ไม่แพง” ขณะที่Mr. Jochen Endle โฆษก ฮันฮวา คิว เซลล์ส บริษัทเกาหลีใต้เชื้อสายเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ใช้ผลิตไฟฟ้าได้ 1,100 เมกะวัตต์ที่มาเลเซียขณะที่ผลิตเพียง 200 เมกะวัตต์ที่เยอรมนี โดยงานทางด้านวิศวกรรม ยังคงส่งไปทำที่สำนักงานใหญ่บริษัทที่เมืองเทลไฮม์ เยอรมนี

    นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าการที่บริษัทอเมริกัน สร้างโรงงานในประเทศมาเลเซียแทนที่จะขยายโรงงานในสหรัฐอเมริกา จากการที่รัฐช่วยกันสินค้าจากประเทศจีน ทำให้ชาวอเมริกันไม่พอใจ แต่บริษัทอเมริกันก็เลือกลงทุนในมาเลเซียเนื่องจากทำต้นทุนได้ต่ำกว่าและมีความยืดหยุ่นในการส่งสินค้าไปขายในหลายประเทศมากกว่าทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซียอยู่อัตราที่สูงกว่าการขยายตัวในสหรัฐอเมริกา

    โรงงานแผงโซลาร์เซลล์บริษัทต่างชาติที่มาเลเซีย นอกจากจะผลิตสินค้าขายประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อป้อนโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในมาเลเซียและญี่ปุ่นด้วย

    Mr.Jochen Endle กล่าวว่าการตั้งโรงงานในมาเลเซียทำให้บริษัทมีความคล่องตัวและความมั่นคงในการผลิตที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาดนานาชาติได้ดีในขณะที่Mr. AR. Jeyaganesh ผู้บริหารของบริษัท เฟิสท์โซลาร์ฯ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าบริษัทใช้วิธีลดต้นทุนโดยการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในท้องถิ่นมากที่สุด ขณะที่เทคโนโลยีต้องเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับสำนักงานใหญ่ ทำให้มีการนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตที่มาเลเซีย

จาก aec.thanjob.com

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02138

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา