นักวิจัย ม.เกษตร จดอนุสิทธิบัตร 3 ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าจากไข่ขาวของไข่เป็ด

การผลิตขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน จะใช้ไข่แดงจากไข่เป็ดเป็นส่วนประกอบหลัก  จึงมีปริมาณไข่ขาวเหลือใช้เป็นจำนวนมาก  ขณะที่ไข่ขาวเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพและมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการคุมระดับคอเรสเตอรอล การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่ขาวจึงให้ประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ด้วย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรรณวิบูลย์ กาญจนกุญชร รศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล  จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร  และรศ.ดร.งามทิพย์ ภู่วโรดม จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์สมบัติ และองค์ประกอบของไข่ขาวของไข่เป็ดโดยน้ำหนัก 100 กรัม ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำร้อยละ 85  มีโปรตีนร้อยละ 12 คาร์โบไฮเดรต ไม่ถึงร้อยละ 2  มีไขมันและเกลือแร่รวมกันไม่ถึงร้อยละ1 โดยโปรตีนในไข่ขาวประกอบด้วยกรดอะมิโนกว่า 18 ชนิด และเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสำหรับร่างกายครบทุกชนิดด้วย

จากสมบัติเด่นของไข่ขาว ทีมนักวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากไข่ขาวของไข่เป็ดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ทำให้ได้กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ไข่ขาวจากไข่เป็ด อาทิ ฟิล์มโปรตีนจากไข่ขาว เพื่อทดลองใช้เป็นสารเคลือบปลาสลิดแห้ง  ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ เต้าหู้แผ่นอบแห้งจากไข่ขาว ทองม้วนผสมไข่ขาว ไส้กรอกเสริมโปรตีนไข่ขาวพาสเจอร์ไรซ์ และก๋วยเตี๋ยวเสริมโปรตีนไข่ขาว

ทีมวิจัยได้ดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงการค้า 3 ผลิตภัณฑ์ คือ ไส้กรอกเสริมโปรตีนไข่ขาวพาสเจอไรซ์  เต้าหู้แผ่นไข่ขาวอบแห้ง  และเส้นก๋วยเตี๋ยวเสริมโปรตีนไข่ขาว โดยได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้สนใจ และผู้ประกอบการทำขนมหวานที่มีไข่ขาวเป็นวัสดุเหลือใช้ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลสู่การผลิตเป็นการค้าด้วย


1.ไส้กรอกไข่ขาวเพื่อสุขภาพ อุดมด้วยโปรตีน  ลักษณะคล้ายไข่ต้มหลอด วิธีทำ คือใช้ไข่ขาวที่ผ่านการกรองแล้วกรอกลงในไส้คอลลาเจน ผูกเป็นท่อน  นำไปต้ม ตัดเป็นลูกแล้วนำใส่ถุงปิดผนึกนำไปฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์ที่อุณหภูมิ 93 องศาเซลเซียส 10 นาทีจะสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้นานถึง 90วัน ไส้กรอกไข่ขาวพาสเจอร์ไรซ์  มีศักยภาพจำหน่ายในสลัดบาร์ตามร้านอาหาร หรือใช้ต่อยอดการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ไส้กรอกไข่ขาวบรรจุในน้ำพะโล้




2.เต้าหู้แผ่นไข่ขาวอบแห้ง   อาหารสุขภาพ เหมาะใช้ปรุงเป็นแกงจืด โดยใช้ไข่ขาวล้วน หรือผสมพืชผักเพื่อปรับแต่งกลิ่นรส และคุณค่าทางอาหาร เติมยีสต์ผงเพื่อลดการเปลี่ยนสีผลิตภัณฑ์ หมักนาน 3 ชั่วโมงจึงนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่น ตัดเป็นเส้น มัดปมเพื่อเพิ่มรูปแบบให้น่ารับประทาน จากนั้นนำไปอบแห้ง ปิดผนึกในถุงจะเก็บได้นาน 3 เดือน โดยยังคงมีสีใกล้เคียงของเดิม



3.เส้นก๋วยเตี๋ยวเสริมโปรตีนจากไข่ขาว   เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ    ทำการผลิตก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่โดยใช้แป้งข้าวเจ้า : น้ำ : ไข่ขาว ในอัตราส่วนต่างๆ และทดสอบความชอบทางประสาทสัมผัสจากผู้ชิม พบว่า  ผู้ชิมมีความชอบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีการเสริมไข่ขาวในอัตราร้อยละ 30 ไม่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวตามท้องตลาด  แต่ข้อดีคือผู้บริโภคจะได้รับโปรตีนเพิ่มเป็นสองเท่าของเส้นก๋วยเตี๋ยวปกติ คือจาก ร้อยละ 2.53 เป็นร้อยละ 4.80 ของน้ำหนักสด



จาก rdi.ku.ac.th

http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=02112

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา