ใบยาสูบ พืชไร่ตัวเสริม กระจายรายได้กว่า 3 พันล้าน

ในทุกปีจะมีเกษตรกรจำนวนไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย ทั่วประเทศ ปลูกใบยาสูบ ส่งขายให้กับสำนักงานยาสูบส่วนภูมิภาค ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ 8 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย นครพนม และบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น


การปลูกใบยาสูบขายให้กับสำนักงานยาสูบ ไม่ถือเป็นการผูกขาด เพราะแต่ละปีความต้องการใบยาสูบไม่เท่ากัน แม้ว่าจะมีแนวโน้มความต้องการที่มากขึ้นในทุกปี แต่ความพร้อมของเกษตรกรและพื้นที่ปลูกที่ไม่เหมือนกัน ทำให้โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง จำเป็นต้องพิจารณาความพร้อมของเกษตรกร เนื่องจากการปลูกใบยาสูบในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่แนวทาง การปลูกแบบ GAP (Good Agricultural Practices) จึงต้องพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกควบคู่ไปด้วย

ใบยาสูบที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ส่งเสริมให้ปลูก มี 3 ประเภท คือ

1. เวอร์ยิเนีย มีเกษตรกรปลูก 3,177 ราย โควต้าการผลิต 13.76 ล้านกิโลกรัม

2. เบอร์เลย์ มีเกษตรกรปลูก 8,922 ราย โควต้าการผลิต 14 ล้านกิโลกรัม

3. เตอร์กิซ มีเกษตรกรปลูก 4,823 ราย มีโควต้าการผลิต 5 ล้านกิโลกรัม

ใบยาสูบ จัดเป็นพืชไร่ที่ชอบอากาศเย็น ต้องการน้ำและความชื้นค่อนข้างสูง ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกใบยาสูบจึงไม่กระจายวงกว้างไปทุกจังหวัด และจังหวัดที่พบว่ามีเกษตรกรปลูกใบยาสูบมากจังหวัดหนึ่งคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกใบยาสูบเกือบ 100,000 ไร่ มีสถานียาสูบรับซื้อจากเกษตรกรถึง 2 แห่ง โควต้าที่จัดสรรให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการปลูกใบยาสูบแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านกิโลกรัม

พื้นที่ 1 ไร่ สามารถลงปลูกใบยาสูบได้มากถึง 3,000 ต้น ใบยาสูบเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วมาก สามารถตัดใบยาขายได้ เมื่อต้นยาสูบมีอายุ 70-80 วัน โดยตัดใบยาสูบใบล่างก่อน อีกระยะหนึ่งจึงจะเก็บใบยาสูบกลางต้น ซึ่งเรียกว่ายากลางฤดู และเก็บใบยาบริเวณใกล้ยอด เป็นใบยาสูบชุดสุดท้าย หรือเรียกว่า ใบยาปลายฤดู ราคาขายจะแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรปลูกใบยาสูบสายพันธุ์ใดด้วย



คุณดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวว่า ใบยาสูบเป็นพืชที่ต้องอยู่ในการควบคุมการผลิต จำเป็นต้องให้เกษตรกรที่ต้องการปลูกสมัครเข้าโครงการและปลูกเพื่อขายผลผลิตคืนให้กับโรงงานยาสูบ ซึ่งต้องเป็นผลผลิตที่ได้คุณภาพ และการปลูกถูกต้องตามกฎหมาย โดยปัจจุบันมีการนำระบบดาวเทียมเข้ามาใช้สำรวจพื้นที่ปลูก ซึ่งมีความแม่นยำเกือบ 100% และปัจจุบันราคารับซื้อใบยาสูบถือว่าเป็นราคาให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรดี คือ พันธุ์เวอร์ยิเนีย รับซื้อ 90-96 บาท ต่อกิโลกรัม+เงินให้เปล่า 26 บาท ต่อกิโลกรัม พันธุ์เบอร์เลย์ รับซื้อ 70 บาท ต่อกิโลกรัม+เงินให้เปล่า 8 บาท ต่อกิโลกรัม และพันธุ์เตอร์กิซ รับซื้อ 70-75 บาท ต่อกิโลกรัม+เงินให้เปล่า 15 บาท ต่อกิโลกรัม

คุณประสาท เมืองนันท์ พนักงานเกษตร สถานีใบยานางั่ว สำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลการปลูกใบยาสูบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการปลูกใบยาสูบของโรงงานยาสูบ จะได้รับเมล็ดพันธุ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อได้เมล็ดพันธุ์มาแล้วเกษตรกรต้องเพาะกล้า เมื่อต้นกล้ามีอายุ 45 วัน นำลงแปลงปลูก โดยใช้ระยะห่างระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 90 เซนติเมตร ปลูกในแนวเฉียงหรือสลับฟันปลา เพื่อให้ลำต้นได้รับแสงแดด ให้น้ำทุก 5-7 วัน เมื่อต้นยาสูบมีอายุ 65 วัน จะนำยาคุมแขนงมาหยอดที่ยอด เพื่อตอนต้นไม่ให้ออกดอกติดผล และเป็นการช่วยให้ใบยาแผ่ใบออก ยกเว้นบางต้นที่เกษตรกรต้องการเก็บพันธุ์ไว้เอง จะปล่อยให้ยอดเจริญเติบโตออกดอกและผล จากนั้นนำผลมาเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ไว้

“ยาสูบ เป็นพืชไร่ที่ไม่ต้องดูแลมาก แต่น้ำต้องไม่ขาด และให้ปุ๋ยตามสมควร เกษตรกรที่เข้าโครงการปลูกใบยาสูบตามโควต้าจะมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และการดูแลใบยาสูบให้ก่อน เพราะเกษตรกรต้องผลิตใบยาให้ได้ GAP ก่อนถึงโรงงานยาสูบ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโรงงานยาสูบที่จะดูแลการผลิตให้ดี ส่วนเกษตรกรเมื่อส่งขายใบยาสูบให้กับสถานียาสูบแล้ว จะมีรายได้เฉลี่ย 20,000-30,000 บาท ต่อไร่ ต่อรอบการเก็บขาย”

สำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกใบยาสูบส่งให้กับโรงงานยาสูบ ติดต่อได้ที่ สถานียาสูบ 8 แห่ง ทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละปีพื้นที่และปริมาณความต้องการใบยาสูบไม่เท่ากัน ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใบยาสูบเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบยาสูบ รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท จึงนับเป็นพืชไร่ที่สร้างรายได้ที่ดีอีกตัวหนึ่ง

ข้อมูล นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา