ปีติพงศ์ เร่งเต็มที่ยกหนี้ 12,000ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ  ได้ประกาศเดินหน้าโครงการสำคัญ คือตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเกษตรกรกับโครงการภาครัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเกษตรในภาพรวม

จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้มีเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อล้ำทางรายได้ และเสริมสร้างให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจำหน่ายหนี้สินเป็นสูญ 12 แหล่งเงิน (6 กองทุน 6 เงินทุน) ในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีจำนวนเกษตรกร 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกร 1,028 แห่ง รวมเป็นเงิน จำนวน 4,556 ล้านบาท หรือร้อยละ 38 จากมูลหนี้ทั้งหมด 12,000 ล้านบาท

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโรดแม็ป (Road Map) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรฯ ตลอดเดือนเมษายน-กันยายน 2558 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ โดยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการและชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสำรวจภาวะหนี้ โดยจำแนกตามกลุ่มหลักเกณฑ์ 10 ข้อ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอจำหน่ายหนี้สูญ โดยกรณีมีระเบียบรองรับในการจำหน่ายหนี้สูญของกองทุนให้เสนอคณะกรรมการกองทุน/เงินทุนที่รับผิดชอบจำหน่ายหนี้สูญ ส่วนกรณีไม่มีระเบียบรองรับในการจำหน่ายหนี้สูญของกองทุน หรือมีแต่ไม่ครอบคลุมหลักเกณฑ์ 10 ข้อ ให้เสนอคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรกรแห่งชาติ (กบส.) พิจารณาจำหน่ายหนี้สูญ และช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะดำเนินการจำหน่ายหนี้ตามที่คณะกรรมการกองทุน/เงินทุน/กบส.เห็นชอบ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลกองทุน/เงินทุนพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจ และสรุปรายงานผลโครงการ โดยตลอดการดำเนินงานดังกล่าวจะนัดประชุมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นระยะทุกเดือน

“สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558 หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ตลอดทั้งส่งเสริมให้ประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน”นายปีติพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ การจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนในกระทรวงเกษตรฯ ให้ปฏิบัติสำหรับหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ (1) กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ (2) กรณีประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ (3) ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ (4) หนี้ขาดอายุความ (5) หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป (6) หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ (7) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบหรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ (8) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินพิการ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง (9) ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ      (10) หนี้สินของเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจากการดำเนินการฟ้องร้องจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

โดยการจำหน่ายหนี้สูญตามมติดังกล่าว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)พิจารณาดำเนินการตรวจสอบ และภายหลังการจำหน่ายหนี้เป็นสูญแล้ว จะทำการพิจารณาทบทวนบทบาทของกองทุนหรือเงินทุนแต่ละแห่งต่อไป

อ้างอิง naewna.com

Popular posts from this blog

โรคของพืชตระกูลมะเขือ มะเขือใบเหลือง มะเขือใบไหม้ มะเขือใบแห้ง ใบด่าง โรคมะเขือจากเชื้อรา และการป้องกันกำจัด

โรคมะพร้าวยอดเน่า โรคใบจุดมะพร้าว โรคมะพร้าวต่างๆ ที่มีต้นเหตุจากเชื้อรา แก้ด้วย ไอเอส

แก้โรค ทุเรียนกิ่งแห้ง ทุเรียนยอดแห้ง ทุเรียนก้านธูป ด้วยการฉีดพ่น ไอเอส สารอินทรีย์ป้องก้นและยับยั้งเชื้อรา